ข้าวแช่ชาววัง คืออะไร? วิธีรับประทาน พร้อมประวัติที่คุณอาจไม่เคยรู้ | ศรีวังหญิง
ข้าวแช่ (Khao Chae : Chilled Rice with Savory & Sweet Complements) เป็นอาหารที่ผู้คนมักจะรับประทานกันในช่วงฤดูร้อน มาตั้งแต่สมัยโบราณ เดิมทีเคยถูกนำถวายเป็นเครื่องเสวยในพระราชวัง ก่อนที่จะแพร่หลายสู่ผู้คนทั่วไป เป็นที่นิยมจนถึงทุกวันนี้ แต่ดูเหมือนว่า เมนู ข้าวแช่ ชาววัง บางคนเคยได้ยินแต่ชื่อ แต่ไม่ทราบถึงประวัติความเป็นมา และ วิธีรับประทาน อย่างแบบชาววัง ว่าเป็นอย่างไร วันนี้ ศรีวังหญิง ได้รวบรวมข้อมูลจากผู้รู้ มาเล่าให้ฟังกันค่ะ
ข้าวแช่ คืออะไร?
ข้าวแช่ เป็นอาหารชาวมอญแท้ ๆ เรียกว่า เปิงด้าจก์ แปลว่า ข้าวน้ำ เป็นอาหารสำหรับพิธีกรรมของชาวมอญ เป็นหัวใจของประเพณีสงกรานต์ เพราะเชื่อกันว่าข้าวแช่เป็นอาหารวิเศษ สะอาด บริสุทธิ์กว่าอาหารอื่นใด ปรุงเพื่อบูชาเทวดา แสดงความกตัญญูรู้คุณต่อบรรพบุรุษ และสร้างบุญสร้างกุศล (องค์ บรรจุน, 2553: 75 ; ศิริศักดิ์ คุ้มรักษา, 2539: 40)
ข้าวแช่ นิยมทำในช่วงวันสงกรานต์ของทุกปี เพื่อถวายพระ ต่อมาคนไทยรับวัฒนธรรมนี้เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๔ เดิมทีเป็นอาหารชาววัง ต่อมาจึงได้แพร่หลายในหมู่ชาวบ้านทั่วไป (หอสมุดแห่งชาติ https://www.nlt.go.th/service/1288-ตำนานสงกรานต์-สืบสานวัฒนธรรมไทยสี่ภาค)
โดยเจ้าของต้นตำรับชาวแช่ ชาววัง นั่นคือ เจ้าจอมมารดา ซ่อนกลิ่น ซึ่งมีเชื้อสายมอญทางเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) ในรัชกาลที่ 4 ได้คิดทำข้าวแช่ อาหารดั้งเดิมของชาวมอญ ขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ทรงโปรดอย่างมาก ซึ่งในระหว่างที่เสด็จฯ แปรพระราชฐานอยู่ที่พระตำหนักเขาวัง เมืองเพชรบุรี จนทำให้ข้าวแช่กลายเป็นอาหารชาววัง และเผยแพร่ออกไปสู่ชาวบ้านในแถบเมืองเพชรบุรีจนกลายเป็น ข้าวแช่เมืองเพชร
(แหล่งที่มา : บทความจากนิตยสาร ศิลปะวัฒนธรรม https://www.silpa-mag.com/history/article_88993 )
ข้าวแช่ ที่เป็นอาหารในวัง กลายเป็นที่แพร่หลาย สู่สามัญชนคนธรรมดา ทำให้ข้าวแช่ในไทย มีทั้ง ข้าวแช่ชาวมอญ ,ข้าวแช่ ชาววัง และ ข้าวแช่เมืองเพชร
ข้าวแช่ชาววัง กับ ข้าวแช่มอญ ต่างกันอย่างไร
ข้าวแช่มอญ ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ในหลายอำเภอ ที่มีชุมชนชาวมอญอาศัยตั้งแต่ บรรพบุรุษ อย่างเช่น ที่อำเภอ บ้านโป่ง จังหวัด ราชบุรี , อำเภอ สามโคก จังหวัด ปทุมธานี มีการทำข้าวแช่ รับประทานในช่วงสงกรานต์ เท่านั้น เพื่อนำไปถวายพระ และ ทำไปให้กับญาติผู้ใหญ่ของครอบครัว
ข้าวแช่มอญ ไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับ เครื่องข้าวแช่ ที่ตายตัว อาจมีมากน้อยแตกต่างกันไป ตามวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น หรือ ความถนัดในการทำอาหารและความชอบในรสชาติของคนท้องถิ่นนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำ ก็จะใช้ ปลา มาประกอบอาหารเป็นเครื่องเคียงข้าวแช่ ส่วนรสชาติส่วนใหญ่ จะมีรส เค็มๆ หวาน ๆ คล้ายๆกัน ยกตัวอย่างเช่น ก๊ะเจีย (ปลาผัดหวาน) , ชุนเจีย (หมูผัดหวาน) , ดั๊บร่าย (หัวผักกาดผัดกะทิ) , หมี่ฮะนา (หมี่ผัด) , อะว้อดเกริ๊ก (ยำมะม่วง) และ อะว้อดอะเนาะ (ยำขนุน) นอกจากนี้ ยังมีการนำ แตงโม ซึ่งเป็นผลไม้คลายร้อน มารับประทานร่วมกับข้าวแช่ด้วย
ส่วนข้าวแช่ในน้ำลอยดอกไม้ ชาวชุมชนมอญ ที่จังหวัด ปทุมธานี ท่านหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า วิธีการหุงข้าว ค่อนข้างพิถีพิถัน ต้องล้างยางข้าว และหุงออกมาให้เม็ดข้าว สวยงาม ส่วนน้ำลอยดอกไม้ จะใช้สะอาด โดยสมัยก่อนจะใช้น้ำฝน ที่ต้มสะอาด ใส่ลงในหม้อดิน ที่จะทำให้น้ำมีอุณหภูมิเย็น ยิ่งวางไว้ในที่ร่ม น้ำในหม้อดินก็จะเย็นมากขึ้น แต่ในสมัยนี้ ก็ใช้น้ำแข็งมาเป็นตัวช่วย ให้ข้าวแช่มีความเย็น กินแล้วชื่นใจ ส่วนข้าวแช่ที่มีกลิ่นหอม บางบ้านก็จะใช้การอบควันเทียน หรือ ลอยดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมลงไป
ส่วน ข้าวแช่ ชาววัง นั้นถูกประยุกต์ มาเป็นเครื่องเสวยในรั้วในวัง จะมีความประณีต พิถีพิถัน ในการทำข้าวแช่ และ เครื่องเคียง แต่ที่โดดเด่นที่เห็นได้ชัด นั้นก็คือ ผักแนม ที่ถูกแกะสลักอย่างสวยงามวิจิตร ตามแบบฉบับชาววัง
ข้าวแช่ ชาววัง ที่จัดเสิร์ฟในช่วงฤดูร้อน ทำให้หลายคนหลงเสน่ห์ เพราะเมื่อได้รับประทานเข้าไปแล้ว รู้สึกเย็น ชื่นใจ พร้อมกับ รสชาติของข้าวแช่ ที่จัดจ้าน และ ผักแกะสลักที่สวยงาม
วิธีรับประทาน ข้าวแช่ แบบชาววัง ?
การรับประทาน ข้าวแช่ ชาววัง เพื่อให้ได้รสชาติอร่อย จะไม่ตักเครื่องใส่ลงไปในข้าวแช่น้ำลอยดอกไม้ เหมือนกับ การรับประทานอาหารในร้านข้าวต้ม แต่ จะเป็นการตักเครื่องเคียงเข้าปากโดยตรง และตามด้วยข้าวแช่หอมๆ ทำให้เกิดความสดชื่น ยิ่งน้ำแช่ดอกไม้เย็น หรือ ใส่น้ำแข็งด้วยแล้ว ก็จะทำให้ยิ่งสดชื่นมากขึ้น
ส่วนการรับประทานเครื่องเคียง จะเริ่มจากเครื่องที่มีความเค็ม และ คาวก่อน เช่น พริกหยวกยัดไส้ ลูกกะปิทอด หลังจากนั้นจึงเริ่มรับประทานเครื่องที่มีรสหวาน ระหว่างนั้นอาจรับประทานผักสดเคียงกันไปเพื่อตัดเลี่ยนและเสริมรสชาติ(แหล่งที่มา : ศูนย์วิทยบริการ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตhttps://library.ssru.ac.th/th/news/view/s10046701)
เครื่องเคียง ข้าวแช่ มีอะไรบ้าง ?
ข้าวแช่ เป็นหนึ่งในไม่กี่เมนูของอาหารไทย ที่จัดสำรับเสิร์ฟ แบบเย็น ข้าวที่พร้อมกับน้ำลอยดอกไม้และน้ำแข็ง กินกับเครื่องเคียงแสนอร่อย ช่วยคลายร้อนได้เป็นอย่างดี สำหรับ ข้าวแช่ สูตรชาววังของ ศรีวังหญิง เสิร์ฟ พร้อม ข้าวแช่ลอยน้ำดอกมะลิ กับเครื่องเคียง พริกหยวกสอดไส้ , ลูกกะปิทอด , หอมทอดสอดไส้ , ไชโป้วหวาน , ปลาช่อนแดดเดียวฉาบน้ำตาล , ไข่แดงเค็มชุบไข่ ,หมูหวาน และผักแกะสลักลวดลายต่างๆ
ผักแกะสลักข้าวแช่ชาววัง ศรีวังหญิง แบบชาววัง
สำหรับผักที่ใช้เป็นเครื่องแนมในข้าวแช่ ในสำรับที่เสิร์ฟในศรีวังหญิง ประกอบด้วย แตงกวา แกะสลักเป็นรูปกระต่าย, แตงร้านและมะม่วง นำมาแกะเป็นรูปใบไม้, กระชายแกะสลักเป็น ดอกจำปี จำปา, พริกชี้ฟ้า เป็นดอกตรีชวา และ ต้นหอมนำมาม้วนให้สวยงามน่ารับประทาน สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถลงเรียนผักแกะสลัก ชาววังได้ ที่ศรีวังหญิง
มา.. เรียนแกะสลักผักชุดข้าวแช่ชาววัง ศรีวังหญิง กันเถอะ
การเรียนแกะสลักผักชุดข้าวแช่ชาววัง ศรีวังหญิง เป็นคลาสเรียนส่วนตัว ผู้ที่ไม่มีพื้นฐานด้านแกะสลักก็สามารถเรียนได้ เพราะจะมีทั้งการสอนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ตั้งแต่ การเลือกวัตถุดิบ ผัก และ ผลไม้ ที่ใช้ในการแกะสลัก การจับมีด ที่สำคัญ ผู้เรียนจะได้ลงมือปฏิบัติจริงทุกขั้นตอน โดยอาจารย์ผู้มีประสบการณ์ ให้การดูแลอย่างใกล้ชิด
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม หลักสูตรแกะสลักผัก ตามลิงค์นี้ หลักสูตรเรียนแกะสลักผักชุดข้าวแช่ชาววัง
ร้าน ข้าวแช่ ชาววัง อร่อย ที่ ศรีวังหญิง
ข้าวแช่ ชาววัง เป็นหนึ่งในอาหารไทยโบราณ ที่หารับประทานยาก แม้ว่าจะเป็นที่นิยม แต่ก็จะมีการจัดเสิร์ฟตามร้านอาหารไทย ในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น หากสนใจอยากจะลิ้มลอง และ ชื่นชมความสวยงามของเครื่องเคียงและผักแนม ก็สามารถเดินทางมา รับประทาน ข้าวแช่ สูตรชาววัง ที่ ศรีวังหญิง กันได้ โดยจะจัดเสิร์ฟให้กับลูกค้า ตั้งแต่ เดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม ของทุกปี โทรสอบถามหรือสำรองที่นั่งได้ที่ 0935099888